ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศเม็กซิโก

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศเม็กซิโก

เม็กซิโก หรือชื่อทางการคือ สหรัฐเม็กซิโก เป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งอยู่ทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ทิศเหนือติดกับสหรัฐฯ ทิศใต้ติดกับกัวเตมาลา และเบลีซ ทิศตะวันออกติดกับอ่าวเม็กซิโกและทะเลแคริบเบียน ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวแคลิฟอร์เนียครอบคลุมพื้นที่ถึงเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก  ด้วยจำนวน 116.2 ล้านคน (2556)

 

เมืองหลวง: กรุงเม็กซิโก (ภาษาอังกฤษ:Mexico City / ภาษาสเปน: Ciudad de México, Distrito Federal)

สกุลเงิน:เม็กซิกันเปโซ (MXN) มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 MXN ~ 2.5 THB

ภาษาราชการ: ภาษาสเปน

ภูมิอากาศ: ประเทศเม็กซิโกไม่ได้มีแต่ทะเลทรายอย่างที่หลายคนคิด เพราะความจริงแล้วมีความหลากหลายทางสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เนื่องด้วยขนาดพื้นที่ที่กว้างขวางของประเทศ ในเม็กซิโกซิตี้จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 12-30 องศาเซลเซียสภาคใต้และบริเวณที่ราบต่ำติดชายทะเลอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันตกจะมีอุณหภูมิอากาศแบบทะเลทราย 

 

เวลา: GMT-6 หรือช้ากว่าประเทศไทย 13 ชั่วโมง ในช่วงปลายเดือน ต.ค.-ต้นเดือน เม.ย. ส่วนในช่วงต้นเดือน เม.ย.-ปลายเดือน ต.ค จะช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง เพราะมีการปรับเวลาสำหรับฤดูหนาวเพื่อให้ได้รับแสงอาทิตย์ยาวนานขึ้นในช่วงเย็น

ศาสนา: โรมันคาทอลิก ร้อยละ 82.7, โปรเตสแตนท์ ร้อยละ 1.6

เชื้อชาติ:เมสติโซ (ผิวขาวผสมอินเดียน) ร้อยละ 60, อเมริกันอินเดียน ร้อยละ 30, คอเคเชียน ร้อยละ 9, อื่นๆ ร้อยละ 1

วันชาติ : 16 กันยายน (ค.ศ.1810 ประกาศอิสรภาพจากสเปน) 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น แบ่งเป็น 31 รัฐและ 1 เขตนครหลวง (Federal District) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล ไม่มีรองประธานาธิบดี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเอนริเก เปญญา นิเอโต(Enrique Peña Nieto) จากพรรค Partido Revolucionario Institucional (PRI) ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่  1 กรกฎาคม 2555 เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2555


การศึกษา อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 86.1 การศึกษาภาคบังคับ 12 ปี

กระแสไฟฟ้า: 220V เหมือนประเทศไทย แต่ระบบหัวปลั๊กที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบหัวแบนสองหัว หากจะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีหัวปลั๊กสามหัว หรือหัวกลมมาใช้ ควรนำอุปกรณ์แปลงหัวปลั๊กมาด้วย

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ APEC, BCIE, BIS, CAN (observer), Caricom (observer), CD, CDB, CSN (observer), EBRD, FAO, FATF, G-20, G-3, G-15, G-24, IADB, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICCt, ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC, LAES, LAIA, MIGA, NAFTA, NAM (observer), NEA, OAS, OECD, OPANAL, OPCW, Pacific Alliance, Paris Club (associate), PCA, RG, SICA (observer), TPP, UN, UNASUR (observer), UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNWTO, UPU, WCO, WFTU, WHO, WIPO, WMO, WTO

ระวัติศาสตร์
เม็กซิโกเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณจากชนเผ่าต่างๆ ที่กระจายกันออกไปในพื้นที่ของประเทศในปัจจุบัน เช่น ชาวมายัน ชาวแอซเทค ชาวซาโปเตค เป็นต้น โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าบริเวณที่ตั้งของเม็กซิโกในปัจจุบันนั้น มีการทำเกษตรกรรมมากว่า 7,000 ปีก่อนคริสตกาล ความเจริญทางวิชาการ ระบบการวางผังเมือง และสาธารณูปโภค แสดงให้เห็นถึงการก่อร่างระบบสังคมที่มีความซับซ้อนและมีการจัดการที่ดี อาทิ การตั้งชุมชนของชนเผ่ามายา จนกระทั่งถึงจักรวรรดิแอซเทคซึ่งแผ่อิทธิพลครอบครองบริเวณที่เป็นเม็กซิโกในปัจจุบัน อาณาจักรนี้มีพลเมืองประมาณ 15 ล้านคน มีเมืองหลวงชื่อ Tenochtitlan ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเม็กซิโกในปัจจุบัน ความรุ่งเรืองทั้งทางด้านวิทยาการและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ทั้งทองคำ เงิน และแร่ธาตุจำนวนมากทำให้สเปนเข้ามายึดครองเป็นอาณานิคมเมื่อปี ค.ศ. 1521 จนกระทั่งชาวเม็กซิกันได้ปฏิวัติประกาศอิสรภาพจากสเปนสำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1810 แต่การเมืองเม็กซิโกภายหลังการปฏิวัติค่อนข้างไม่มั่นคง เนื่องจากถูกปกครองในแนวทางเผด็จการประชาชนยากจนและขาดสวัสดิการ จนกระทั่งมีการปฏิวัติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1917 ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาระบบการเมืองและสังคม อันเป็นผลต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

ข้อมูลทางเศรษฐกิจ 
อัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 4 (2555)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1.761 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555) (อันดับที่ 12 ของโลก)
GDP per capita 15,300
ดอลลาร์สหรัฐ (2555)
โครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 3.7 (ข้าวโพด ธัญพืช ถั่วเหลือง ข้าว ผลไม้ ฝ้าย กาแฟ มะเขือเทศ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม)
ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 23.4 (อาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบ เคมี เหล็ก ปิโตรเลียมและเหมืองแร่)
ภาคบริการ ร้อยละ 62.9 (การค้า โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.6 (2555)
ดุลบัญชีเดินสะพัด –11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศและทองคำ 163.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)
หนี้สาธารณะ ร้อยละ 35.4 ของ GDP (2555)
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 5 (2555)

ค่าแรงขั้นต่ำ  62 เปโซ หรือประมาณ 155 บาท
ทรัพยากรธรรมชาติ ปิโตรเลียม เงิน ทองแดง ทองคำ ตะกั่ว สังกะสี ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้
อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า การบิน เครื่องมือแพทย์ ปิโตรเลียม เหมืองแร่ อาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว
เกษตรกรรม ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าว ถั่ว ฝ้าย กาแฟ ผลไม้ มะเขือเทศ ปลา กุ้ง
การค้าระหว่างประเทศ (2555)
การส่งออก 370.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การนำเข้า 379.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้านำเข้าหลัก เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือเพื่อการเกษตร สินค้าวัตถุดิบ อุปกรณ์การขนส่งและชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องบิน และชิ้นส่วนประกอบ เป็นต้น
สินค้าส่งออกหลัก สินค้าอุตสาหกรรม น้ำมันปิโตรเลียม เงิน ผลไม้ กาแฟ ฝ้าย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-เม็กซิโก 
ไทยและเม็กซิโกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี พ.ศ.2518 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก เปิดทำการในปี พ.ศ. 2521 โดยมีเขตอาณาครอบคลุม 5 ประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางและแคริบเบียน ได้แก่ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว เบลีซ และคิวบา

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง เป็นไปด้วยความราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิดเท่าที่ควร เนื่องจากระยะทางห่างไกล ภาษาทางการคือสเปน และประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกันมาแต่ดั้งเดิม ไทยและเม็กซิโกสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเวลาเกือบ 38 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2518 (ค.ศ. 1975) มีการเยือนในระดับสูง เช่น การเสด็จฯ เยือนเม็กซิโกของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี 2539 (ค.ศ. 1996) การเสด็จเยือนเม็กซิโกของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อปี 2535 (ค.ศ. 1992) รวมทั้ง การเยือนเม็กซิโกของนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ  ชินวัตร) เมื่อปี 2545 (ค.ศ. 2002) และปี 2549 (ค.ศ. 2006) และการมาเยือนไทยของนาย Vicente Fox ประธานาธิบดีเม็กซิโก เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปค เมื่อปี 2546 (ค.ศ. 2003) และเมื่อปี 2548 (ค.ศ. 2005) ทั้งสองประเทศได้ฉลองครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และครบรอบ 35 ปี คสพ.ในปี 2553 ซึ่งตรงกับปีที่เม็กซิโกฉลอง 200 ปีการได้รับเอกราชจากสเปน (ในปี 2553 บางประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาต่างครบรอบ 200 ปีการได้รับเอกราชเช่นกัน อาทิ อาร์เจนตินา ชิลี เป็นต้น)

การพบปะระดับผู้แทนระดับสูงครั้งล่าสุดได้แก่ การหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) กับ ออท. Patricia Espinosa Cantellano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก ช่วงการประชุม APEC 2011 ณ เมืองโฮโนลูลู ประเทศสหรัฐอเมริกา เดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งได้มีการลงนาม MOU เพื่อจัด Political Consultation การเยือนระดับสูงที่สำคัญล่าสุด ได้แก่ การเสด็จเยือนเม็กซิโกของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อเข้าร่วมประชุม World Youth Conference ค.ศ. 2010 ที่เมือง Leon รัฐ Guanajuato ในเดือนสิงหาคม 2553

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แม้ความสัมพันธ์ทางการเมืองจะไม่ใกล้ชิด แต่การค้าสองฝ่ายขยายตัวมากขึ้น ขณะนี้เม็กซิโกเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา (รองจากบราซิล) มูลค่าการค้าในปี 2556 มีจำนวน  2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 0.47% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมของไทย) เพิ่มขึ้น 13 % จากปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีจำนวน  1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกจำนวน  767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้าจากเม็กซิโกจำนวน  1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวเม็กซิโกมาเยือนไทยประมาณ  8,363 คน (อ้างอิงจากสถิติการตรวจลงตราของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก)

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย คอมพิวเตอร์  ส่วนประกอบรถยนต์  เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร โทรทัศน์  อุปกรณ์สื่อสาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก

สินค้านำเข้าที่สำคัญจากเม็กซิโกเครื่องจักรไฟฟ้า อัญมณี เงินแท่งและทองคำ  ส่วนประกอบรถยนต์  เครื่องจักร เครื่องมือทางการแพทย์ เหล็กกล้า เส้นด้ายและผ้า ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและด้านเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งสองประเทศมีบทบาทและความร่วมมือในกรอบต่างๆ เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) สหประชาชาติ (UN) องค์การการค้าโลก (WTO) และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (FEALAC) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีท่าทีที่สอดคล้องและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆ อาทิ แนวความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ หรือ  ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก ทั้งสองฝ่ายสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเลือกตั้งสำคัญๆ อาทิ การเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ เม็กซิโกเป็นสมาชิก Forum for East Asia and Latin America Cooperation (FEALAC) และ OAS ซึ่งไทยได้ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือทางด้านวิชาการตามโครงการของ สพร. อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9

นอกจากนี้ ไทยกับเม็กซิโกได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการจัดส่งความช่วยเหลือให้กับเฮติ ที่ได้รับผลจากภัยแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อเดือนมกราคม 2553 ซึ่งไทยได้จัดส่งความช่วยเหลือแก่เฮติผ่านรัฐบาลเม็กซิโก (โดยไทยได้อนุมัติเงินงบประมาณความช่วยเหลือระยะเร่งด่วนจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ เวชภัณฑ์มอบให้ทางการเม็กซิโกเพื่อจัดส่งให้เฮติ)

ความตกลงทวิภาคี ไทยและเม็กซิโกได้ลงนามความตกลงทวิภาคีแล้ว 7 ฉบับ ได้แก่ 1) ความตกลงว่าด้วย ความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าฯ และสภานักธุรกิจเม็กซิโก 2) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ 3) ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ 4) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภานักธุรกิจเม็กซิโกสำหรับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน (COMCE) 5) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา 6) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยแห่งโกลีมา (Colima) และ 7) บันทึกความเข้าใจ Political Consultations

Thailand Embassy in Mexico

Adress: Paseo de las Palmas No.1610 Lomas de Chapultepec México D.F. 11000
Email: [email protected]
Phone: (+52-55) 5540 4551, 5540 a 4529
Fax: (52-55) 5540 - 4817

 

Subscribe to newsletter

To receive the monthly newsletter from the Embassy, please subscribe your email here: